วันจันทร์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ทริป ไหว้พระ 9 วัด ทั่วกรุงเทพ

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2550
สักไม่กี่คืนก่อนการเดินทาง ป๊อป msn มาชวนไปไหว้พระเก้าวัด ในกรุงเทพ ใจหนึ่งก็อยากไป แต่ใจหนึ่งก็ขี้เกียจ เพราะว่านัดกันแต่เช้า 8.30 น. แค่มาเรียนของ อ.ถาวร ทุกวันเสาร์ 9.00 น. ยังไม่เคยทันสักครั้ง ... ไหน ๆ บุญออนไลน์มาถึงขนาดนี้ ก็เลยตบปากรับคำ ตั้งปลุกผ่านมือถือ ไว้เรียบร้อย
เช้าวันที่ 29 ธันวาคม 2550
นอนไม่ค่อยจะหลับ เพราะกลัวจะหลับแล้วไม่ตื่นไปไม่ทันเวลานัดหมาย 8.30 น. เด้งมาจากที่นอน จะอาบน้ำดีไหมหว่า ไม่ได้ๆ ไปทำบุญต้องชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ จิตใจค่อยว่ากัน
8.35 น. ลงแทกซี่ตรงศาลหลักเมือง ตามที่นัดหมาย สายไป 5 นาที
แว๊บๆ เห็นหลังไว ๆ อ่อ น้องอั๋น เดินเข้าไปในศาลหลักเมือง เอามือไปจี้เอวเพื่อปล้นบุญ แล้วถามถึงผู้ร่วมทริป คนอื่น ๆ ไม่มีคำตอบมีแต่รอยยิ้ม พอเดาได้ว่า เพิ่งมาไม่เจอใครเหมือนกัน จะไปทำบุญก่อนก็เกรงใจ กลัวบุญจะล้ำหน้า จริง ๆ แล้วคือ ไม่รู้ว่าจะต้องไหว้อะไรก่อนหลัง ต้องรอหัวหน้า ทริปมาก่อน แต่ดูท่าทางงานนี้คงจะเริ่มที่ เก้าโมงกว่า ๆ เลยชวนกันไปหาอะไรทานรองท้องก่อน แต่ดูท่ารอบ ๆ ศาลหลักเมืองจะไม่มีอะไรให้ทานนอกจากดอกไม้ และพวงมาลัย ถัดไปก็คงกินปืนใหญ่ ก.กลาโหม เลยตัดสินใจเดินไปอีกถนนด้านหลัง เพราะเป็นย่านชุมชน ถนนอะไรไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่รู้ว่าริม ๆถนนเป็นคลองเขารับชุบพวกทองเค ทำให้นึกถึงสมัยเรียนเคมี ตอนม.ปลาย ซัดก๋วยเตี๋ยวไปชาม กาแฟไป 1 อิ่มแล้วมีแรง
เก้าโมงกว่า ๆ พร้อมกันที่ศาลหลักเมือง
ในที่สุดเก้าโมงกว่า ๆ ทั้งทริปก็พร้อม ประกอบด้วย หัวหน้าทริป ป๊อป และลูกทริป กิต อั๋น ญิ๋ง กิ๊ป อิม เฮีย และ มี เก่ง ที่เรียนภาคปกติมาด้วย อีก 1 คน รวมทั้งทริป 8 คน เราเริ่มไหว้พระกันที่ศาลหลักเมือง บูชาพระ บูชาศาลหลักเมือง และศาลเทพารักษ์ คนเยอะพอสมควรครับ ถ่ายรูปเสร็จสรรพใช้เวลาพอสมควร ก็ข้ามถนนมาพระบรมมหาราชวัง
ไหว้พระแก้ว เยี่ยมชมบรมมหาราชวัง
งานนี้ยังเช้าอยู่เดินไปถ่ายรูปไป ตั้งแต่ก่อนเข้าเขตพระอุโบสถวัดพระแก้ว พอไปถึงตามระเบียบทำบุญบริจาคเงินซื้อดอกไม้ธูปเทียน แล้วไปไหว้พระตรงลานหน้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว คนล้นหลามมากมาย ทั้งภายในพระอุโบสถ และลานรอบ ๆ เพราะมีทัวร์มาลงเห็นแล้วน่าชื่นใจภูมิใจในอัจฉริยะของบรรพบุรุษที่รังสรรค์งานที่งดงามไว้ให้พวกเราได้ดู และเป็นที่อัศจรรย์แก่ชาวต่างประเทศ งานนี้เราเจาะจงไปไหว้พระ ก็ได้แค่ถ่ายรูปรอบ ๆ กับประสาทเทพบิดรที่อยู่ข้าง ๆ เท่านั้นเอง คงต้องรีบไปต่อเพราะสิบโมงกว่าได้มาแค่ 2 วัด (อุบอิบรวมศาลเป็นวัดด้วย)
ไหว้พระนอนวัดพระเชตุพน
จากตรงนี้จริง ๆ วัดติดกันแต่เราข้ามถนนมานั่งรถแทกซี่ครับ เพราะกิ๊ปส้นรองเท้าหัก ช่วงข้ามถนนกิ๊ป ต้องถอดรองเท้าวิ่งข้ามถนน เพื่อมาขึ้นรถแทกซี่ สงสัยบุญจะหนัก รองเท้าคงจะรับไม่ไหว มาถึงวัดโพธิ ก็ไห้วพระด้านนอกตามระเบียบ มีคาถาบูชาพระประจำวันอังคาร ในการบูชา เพราะพระนอน เป็นปางประจำวันอังคารครับ น้องเก่ง รอบคอบมากจัดเตรียมธูปมาให้เสร็จสรรพ พอๆ กับอั๋นที่บอกว่า ผมเตรียมแบงก์ยี่สิบมาเพียบครับ วางแผนมาดี วัดนี้คนไม่เยอะเท่าวัดพระแก้วครับ แต่ก็พอสมควร พระนอนสวยงามมาก อ่านประวัติคร่าว ๆ สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 สร้างองค์พระก่อน ต่อมาจึงได้สร้างพระอุโบสถครอบลงไปอีกที
จุดเด่นของพระนอนนอกจากจะมีพุทธลักษณะที่งดงามแล้ว ตรงปลายพระบาท มีงานฝังมุก ซึ่งเคยอ่านมา แต่นานแล้ว เหมือนกับจะสื่อความเป็นมงคล หรือคติธรรมตามพุทธศาสนาสักอย่างหนึ่งครับ ต้องขออภัยที่จำไม่ได้จริง ๆ วัดนี้อาศัยการทำบุญแบบยืนยาว คือแนวด้านหลัง จะมีบาตรพระที่ให้เราเอาเหรียญไปใส่ตามบาตร เป็นแนวยาว เพราะว่า พระอุโบสถจะมีความยาว จริง ๆ แล้วอาจจะเรียกว่าวิหาร คงไม่ได้เรียกว่าอุโบสถ เพราะดูแล้วไม่มีที่ให้ประกอบพิธีกรรมภายในได้เหมือนวัดพระแก้วครับ จริงๆ แล้วพยายามจะเดินตามไกด์ที่กำลังอธิบายให้ฝรั่งนักท่องเที่ยวเพื่อจะได้ความรู้อะไรเพิ่มเติม จริง ๆ แล้วแต่ละวัดน่าจะมีไกด์ประจำวัดคอยอธิบายให้คนไทยรู้เรื่องบ้างก็จะดีไม่น้อย
ข้ามลำน้ำเจ้าพระยาสู่วัดอรุณราชวราราม
ออกจากวัดโพธิ์ เราเดินออกมาข้ามฝากเสียค่าเรือคนละ 3 บาท เพื่อจะไปวัดอรุณฯ แดดกำลังดีเราตรงดิ่งไปซื้อดอกไม้ธุปเทียนและไหว้พระตามระเบียบครับ เพราะวัดส่วนใหญ่ไม่ให้นำธูปเทียนไปไหว้ข้างใน เพราะจะทำให้จิตกรรมฝาฝนังต่าง ๆ เสียหายได้จากควันและความร้อน เฮียดอดแอบไปไหว้พระในอุโบสถ ที่อยู่ด้านหลังพระปรางค์ ไปนั่งสมาธิมาแป๊บนึง ในพระอุโบสถนี้เห็นมีแท่นประดิษฐานและมีเจดีย์แก้วอยู่บนฐานค่อนข้างสูง ไม่มีใครอธิบายว่าคืออะไรแต่คิดว่า น่าจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ออกมาเข้าไปในเขตพระปรางค์ เห็นน้อง ๆ ร่วมทริปกำลังนั่งพนมมือถวายสังฆทาน เลยเข้าไปร่วมบุญถวายสังฆทานด้วย เกือบไม่ทัน แต่ที่แน่ ๆ น้องกิ๊ป เอาน้ำที่กรวดไปรดต้นไม้ข้าง ๆ นานมาก ... พระปรางค์วัดอรุณเป็นงานศิลปะประดับกระเบื้อง ตามศิลปะนิยมในช่วงรัชกาลที่ 3 ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน แม้ว่าดูใกล้ๆ จะทรุดโทรมไปบ้าง แต่ก็ยังคงความสง่างามไว้ได้อย่างดี เราตัดสินใจขึ้นไปบนพระปรางค์ ชั้นแรกไม่เท่าไหร่ ชิว ชิว ขึ้นได้สบายมาก แต่อีกชั้นบันไดค่อนข้างสูง และชัน เล่นเอาหนาวๆ ไปเหมือนกัน รุ้แล้วว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวมันเป็นอย่างไร ... พอขึ้นไปสู่ชั้นสองของพระปรางค์ได้ มองลงมานี่ซิครับ เหงื่อตกเล็กน้อย เอาเป็นว่าทำใจทัศนาทิวทัศน์สวยๆ ก่อน เพราะมองจากมุมนี้ ไปยังฝั่งวัดพระแก้วแล้วสวยงามอีกเช่นเคย แดดแจ่มๆ กระทบกับความมลังเมลือง เหลืองทองของปรางค์ปราสาทต่าง ๆ ของบรมมหาราชวัง และวัดโพธิ์ รวมทั้งแสงที่กระทบกับผืนน้ำสะท้อนระยิบระยับ จับตาน่าชมมิใช่น้อย ไกลๆ ยังเห็นสะพานพระราม 8 และคอนโดสูงๆ อยู่อีกฝากไกล ๆ แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามกาลเวลา งานนี้หนูอิม ไม่ยอมปีนป่ายด้วย เพราะอิมตัวเล็ก อาจจะเสี่ยงตกบันได้ชันๆ ได้
ไหว้หลวงพ่อโต วัดระฆัง
หลังจากทดสอบจิตใจ ในการลงจากองค์พระปรางค์มาได้ แบบไม่มีใครเป็นอะไร โดยเฉพาะญิ๋งที่ดูจะติดอกติดใจ อยากขึ้นอีกรอบ เราเดินทางออกจากวัดอรุณฯ ได้เวลาพักกลางวันพอดิบพอดี หยุดพักรับประทานอาหารกันเล็กน้อย ไม่รู้น้อยหรือเปล่า ล่อก๋วยเตี๋ยวเรือกันไปคนละ 2 ชาม หมูสะเต๊ะ และลูกชิ้นปิ้ง อีกต่างหาก ต้องขออภัยจำชื่อร้านไม่ได้เพราะหิวตาลาย อิ่มบุญ แต่ไม่อิ่มท้อง ก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ เพราะยังเหลืออีกหลายวัด
จับรถประจำทางโดยสาย ไม่ใช่รถเมล์ มาอีกไม่ไกล วิ่งมาส่งหน้าวัดระฆัง งานนี้เราต้องเดินต่อเข้าไปจากถนนอีกเล็กน้อย เพราะวัดอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไหว้หลวงพ่อโตกันตามระเบียบ ดูวัดนี้เราจะใช้สมาธิไหว้พระกันนานเป็นพิเศษครับ เพราะว่ามาวัดนี้ไม่ท่อง คาถาชินบัญชร ของสมเด็จพุฒาจารย์โตฯ ก็คงเหมือนมาไม่ถึง กว่าจะท่องจบ ตะกุกตะกัก เล่นเอาธูปไหม้ไปเยอะจนขี้ธูปหล่นใส่ไปหลายทีอยู่ครับ มีข้างๆ เฮีย สงสัยจะมาบ่อย ท่องแบบติดเทอร์โบ แป๊บเดียวเสร็จ ขนาดมาท่องที่หลังนะครับ ของเฮียยังไปไม่ถึงครึ่งเลย มากดดันกันเล็กน้อย คนเยอะพอสมควรครับวัดนี้ หลังจากทำบุญมีคนบอกว่า ถ้ามาวัดระฆัง ต้องทำบุญปล่อยหอยขม จะได้เป็นการปล่อยความขมขื่นไป อ้าวมาถึงแล้วไม่ทำไม่ได้ เตรียมพร้อมทั้งหอยขม ปลาหมอ (ปล่อยด้วยเพราะจะได้สุขภาพดี) และขนมปัง ไปให้อาหารปลา วัดนี้ดูเราจะเพลิดเพลินกับการให้อาหารปลากันอย่างสนุกสนาน เรียกว่า คนอิ่มบุญปลาอิ่มท้อง แต่มีคนบอกว่าไอ้เจ้าหอยขมที่ปล่อยไป ตะกี้พี่ผมเห็นมีคนไปงมมาเป็นกะละมัง หอยมันคงชินแล้วหละ ดีกว่าโดนเอาไปทำแกงหอยขม
กลับฝั่งพระนคร ไปวัดสุทัศน์
เราออกจากท่าเรื่อวัดระฆัง กลับไปยังฝั่งพระนคร เพื่อที่จะไปอีกหลายวัดที่เหลือ ตอนแรกตั้งใจกันว่าจะไปวัด ชนะสงคราม และต่อด้วยวัดสระเกศ (ภูเขาทอง) และมาวัดสุทัศน์ มีการเปลี่ยนแผนกันเล็กน้อยเนื่องจาก แท็กที่ที่โบกไปก่อน ไม่รู้จักเส้นทาง เลยต้องไปเจอกันที่วัดสุทัศน์ ตรงหน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ แทน จากจุดนี้เราได้เข้าไปบูชาพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุด แต่จำไม่ได้ว่าใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ หรือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ ในความคิดเห็นแล้ว คิดว่าเป็นพระพุทธรูปที่ได้สัดส่วนสวยงามอีกองค์หนึ่ง พระพักต์จะดูค่อนข้างขรึม ๆ แต่ดูค่อนข้างมั่นคง เคยดูจากทีวีรายการ จดหมายเหตุกรุงศรี ทางช่องเจ็ด เคยเล่าว่าเป็นพระพุทธรูปที่ รัชกาลที่ 1 ทรงชะลอมาจากสุโขทัย สมัยครั้งที่มีการสร้างกรุงเทพฯ ในครั้งนั้นมีการนำพระพุทธรูปมาจากหัวเมืองสำคัญ ๆ หลายหัวเมืองมาประดิษฐานตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พอดีวันที่เรามาถึงมีการนำแบบพระพุทธรูปจำลอง ที่จะนำไปหล่อเพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดอื่น มาประกอบ บรรดาผู้ชายในทริป จึงได้มีส่วนร่วมในการช่วยแรง ในการยกชิ้นส่วนตัวองค์พระส่วนบนขึ้นประกอบกับองค์พระส่วนล่างด้วย ออกจากวัดสุทัศน์ ไม่รูจะบาปไหม ลืมแก้วกาแฟเย็นทิ้งไว้ในพระอุโบสถด้วยตอนออกมา หน้าวัดสุทัศน์ยังมีสถานที่สำคัญคือ เสาชิงช้า ที่เป็นเสาใหม่ที่ทางกรุงเทพมหานครได้บูรณะและทำพิธีไปไม่นาน
ขอพร ตรวจชะตา ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ
เราเดินข้ามถนน แบบเหมือนมีการก่อจราจลกันเล็กน้อย จากเสาชิงช้า เดินเลาะไปตามถนน ไปยังถนนตะนาว เพื่อไปไหว้เจ้าพ่อเสือกัน ในศาลเจ้าพ่อเสือห้ามถ่ายรูป คนเยอะอีกเช่นเคย ตลบอบอวลไปด้วยควันธูป ไหว้ตามประเพณี การไหว้ครั้งนี้ดูหนูอิม กับ ป๊อปจะชำนาญ เพราะไหว้แบบประเพณีจีนมีให้ไหว้หลายที่ แต่ที่รู้ ๆ คือไหว้ให้ครบ อย่าให้ธูปในมือเหลือติดออกไปก็แล้วกัน ศาลเจ้าพ่อเสีอ มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการขอพร ขอความสำเร็จ และการทำนายทายทักดวงชะตา เลยตัดสินใจเสี่ยงเสี่ยมซี แต่ไม่รู้เสี่ยงได้ถูกต้องตามขั้นตอนหรือเปล่า เพราะเห็นอาแป๊ะ ที่อยู่ก่อนหน้า จะมีไม้สองชิ้นประกบกันแล้วโยนไปบนพื้นก่อน แล้วค่อยเสี่ยงเซียมซี เห็นทำเช่นนั้นอยู่หลายรอบ เฮียไม่รู้หละ มาถึงอธิษฐาน แล้วเขย่าเลย ออกมาตรงกับอายุพอดิบพอดี ... ที่สำคัญได้เบอร์เดียวกับหนูอิมอีกต่างหาก เซียมซีออกมาดีพอสมควร เลยเก็บไว้เป็นกำลังใจ ... คนเราถ้าไม่มุมานะทำอะไรเสียก่อน ก็ไม่มีใครช่วยอะไรได้
เวลาเย็นย่ำเปลี่ยนไปวัดใกล้เคียง วัดมหรรณฯ ไหว้พระร่วง
ออกจากศาลเจ้าพ่อเสือ ถ้าตามแผนเดิมคงไม่ทันเพราะเวลาไม่รอรี เล่นไปบ่ายแก่ ๆ แล้ว จึงคิดว่าเอาวัดแถวนี้หละ หันรีหันขวาง เลยตัดสินใจไปวัดที่ไม่ได้อยู่ในแผน คือวัดมหรรณพาราม ไม่รู้ว่าใครได้สังเกตหรือเปล่าว่า วัดนี้เขามีป้ายบอกว่า วัดนี้ เป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกของประเทศ เราเดินเข้าไปในวัดซึ่งก็มีคนน้อยมาก ถ้าเทียบกับวัดอื่น ๆ ที่เราไปมา อาจจะเพราะไม่ได้เป็นวัดที่อยู่ในรายการ 9 วัดที่เป็นที่นิยม ในที่นี้เราได้มีโอกาสสักการะ พระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งคือ พระร่วง ตามประวัติคือเป็นพระที่อยู่ในจังหวัดสุโขทัย แต่ประวัติการสร้างมาอย่างไรไม่ปรากฎ มีจุดที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ การถวายสิ่งของบูชา พระร่วง จะเป็นตะกร้อ มีคนหนึ่งในทริปถามเรื่องนี้ หลวงพ่อทีอยู่ในวิหารก็อธิบายว่า ตะกร้อเป็นกีฬาที่นิยมเล่นตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือจะเป็นกุศโลบายของทางวัดอันนี้ไม่แน่ใจที่จะได้นำตะกร้อไปบริจาคให้โรงเรียนต่าง ๆนะครับ เอาเป็นว่าเราไม่ได้มีตะกร้ออะไรไปถวาย วัดนี้แม้นอกโปรแกรม แต่สิ่งที่เราได้มามากกว่าวัดอื่นคือ เราได้มีโอกาสสนทนากับพระ ที่ท่านก็ให้คติธรรม แง่คิดเป็นเครื่องเตือนสติเราหลายอย่าง รวมถึงการให้ศีลให้พรด้วย ...ที่สำคัญได้ปฏิทินรูปพระร่วงติดมือกันมาคนละอัน
ไปไหนต่อดี ... ทะลุวัดเทพธิดา กุฏิสนทรภู่ ตามหาโลหะปราสาท
เสร็จสรรพจากการไหว้พระร่วง และสนทนาธรรม เราตัดสินใจที่จะไปวัดใกล้เคียงคือวัดราชนัดดา รู้ว่าอยู่ไม่ไกล แต่ที่สำคัญไม่รู้เส้นทาง เราตัดสินใจเดิน (จริง ๆ ความงกของเฮียเอง เพราะเป็นคนชอบเดิน) เด็กๆในทริปเลยต้องเดิน ก็ถามทางเจ้าหน้าที่กวาดถนน เพราะเราตัดสินใจว่า ถ้าคนงาน กทม. ไม่รู้ก็คงไม่มีใครรู้แล้ว เขาแนะนำทางว่าเดินตรงไปเรื่อย ๆ หรือจะรอรถรางชมเมืองของ กทม.ก็ได้ แต่สิ่งที่คุณน้ากวาดถนนลืมบอกคือ ให้เลี้ยวซ้ายก่อน แล้วค่อยตรงไป เหอๆๆๆ ดีว่าไหวทันไปถามร้านขายของชำ เขาบอกว่า เดินกลับไป แล้วเลี้ยวขวา แล้วค่อยตรงไป ลาด้วยรอยยิ้มและคำขอบคุณ ดีนะครับที่กล้าที่จะถาม ไม่งั้นไม่รู้หลงไปวัดไหน ... จากข้อมูลให้เราเดินตัดผ่านหน้าศาลาว่าการกรุงเทพฯ ตรงไปเรื่อย ๆ จะเจอวัดเทพธิดารามก่อน แล้วเดินตัดวัดเทพธิดาราม ไปเราจะเจอวัดราชนัดดา วัดอยู่ติดกันมีแค่คลองกั้น มาถึงหน้าศาลาว่าการถามยามแถวนั้น ว่าวัดเทพธิดารามไปตรงนี้ใช่ไหม ดูไม่มีคำตอบได้แค่พยักหน้า เราจึงขอบคุณ และลาจากมาด้วยความไม่แน่ใจในคำตอบ ไม่นานเราก็เจอวัดเก่า ๆ ออกจะโทรมๆ หน่อย ๆ คือวัดเทพธิดาราม วัดนี้อยู่ในช่วงของการบูรณะ เพราะมีนั่งร้านคลุมพระอุโบสถอยู่ เราได้มีโอกาสเข้าไปในพระอุโบสถที่ข้างในประดิษฐานหลวงพ่อขาว แต่ชื่อเต็ม ๆ ไม่รู้เหมือนกันครับ องค์ไม่ใหญ่มาก วัดนี้น่าจะเป็นวัดหลวงสำคัญ เพราะแท่นที่ประดิษฐานตกแต่งอย่างบัลลังก์ในพระที่นั่งสำคัญ ลวดลายฝาฝนังจะเป็นลายดอกไม้ ไม่ใช่การเล่าเรื่องพุทธประวัติเหมือนวัดอื่น ๆ การประดับประดาก็เป็นศิลปะจีนตกแต่งด้วยกระเบื้อง และมีเสามังกรด้วย แม้ว่าภาพเขียนสีจะดูหม่นหมองลงไปพอสมควร แต่ดูจากลวดลายแล้ว ถ้าได้รับการบูรณะจะเป็นอุโบสถที่สวยงามหลังหนึ่งเลยทีเดียว ... ว่าอยู่ว่าเคยได้ยินวัดเทพธิดารามมาจากไหน ระหว่างที่เราเดินทางไปวัดราชนัดดา ผ่านกลุ่มกุฏิพระ พลันสายตาก็เหลือบไปเห็น ป้ายเล็ก ๆ ว่า กุฎิสุนทรภู่ ถึงบางอ้อว่า เคยได้ยินที่ไหน จากการเรียนภาษาไทยประวัติสุนทรภู่ นั่นเอง แต่เราคงไม่มีเวลาจะไปเยี่ยมกุฎิท่าน เพราะจุดหมายของเรายังไม่จบ
จุดสุดท้าย วัดราชนัดดา โลหะปราสาท
จากกุฏิสุนทรภู่ มองไปข้างหน้าก็เห็นจุดหมายของเราคือโลหะปราสาท จากจุดนี้เราตรงไปแล้วข้ามคลองก็เข้าเขตวัดราชนัดดา ไม่รีรอช้าครับเราก็ตรงไปยังโลหะปราสาททันที จากที่พอทราบมาคือ โลหะปราสาทมีปรากฎประวัติการสร้างในโลกนี้เพียง 3 แห่ง อยู่ที่อินเดีย และศรีลังกา ถ้าจำไม่ผิดนะครับ แต่ที่ยังหลงเหลือก็จะเป็นที่นี่ที่เดียว คือ ยอดทั้งหมดมี 38 ยอด แทนความหมายของ มงคล 38 ประการ และแต่ละยอดปราสาททำด้วยโลหะ แม้แต่ยอดเสาบัวก็เป็นโลหะ ลองเข็กยอดเสาบัวดูแล้ว มีเสียงแสดงว่าข้างในกลวง และเป็นโลหะ เมื่อเข้ามาภายในจะมีบันไดวน และในแต่ละชั้นเราจะมองเห็นยอดปราสาทครบทั้งสี่ด้าน แต่ละชั้นก็จะเห็นไม่เหมือนกัน อย่างชั้นแรกเมื่อขึ้นบันไดไปเราก็จะเห็นพระพุทธรูป ชั้นต่อไปเห็นหน้าบรรณที่เป็นจั่วของปราสาท ขึ้นไปอีกชั้นเราจะเห็นยอดปราสาท และชั้นบนสุด เราจะเห็นทุกยอดปราสาท โดยชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อยู่บนบุษบก และมีที่ครอบไว้อีกที ถามผู้ดูแลก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพียงแต่บอกว่า ปกติส่วนพระบรมสารีริกธาตุนี้จะปิดไว้ ไม่ให้เข้า คือปิดประตูไว้เลย ไม่เปิด ให้ชมด้วย ซึ่งในหนึ่งปี จะเปิดให้สักการะบูชา แค่เพียง สองครั้งคือ ปีใหม่ กับสงกรานต์ ก็นับว่าเราโชคดีมากครับ จากโลหะปราสาทขึ้นมาค่อนข้างง่ายด้วยบันไดวน ทัศนียภาพยามเย็น มองไปด้านหนึ่งเราจะเห็นภูเขาทอง หรือ สุวรรณบรรพต ต้องแสงพระอาทิตย์ยามอัศดง อยู่ไม่ไกล อีกฝากหนึ่งคือ ถนนราชดำเนิน และด้านหน้าที่ติดกันคือ ลานมหาเจษฎาบดินทร์ และอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 ลมเย็นๆ แดดร่ม ๆ ก็ทำให้เราคลายหายเหนื่อยไปได้ มีแต่ความอิ่มเอมใจ กับสิ่งดี ๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา
กินกินกิน ...
ไม่ไปไหนไกลแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจ ไหว้พระ 8 วัด 2 ศาล ด้วยความอิ่มเอม เราตัดสินใจหาที่กินกันแล้วคราวนี้ คงไม่ไปไหนไกลเพราะได้ข่าวว่า ของอร่อย ๆอยู่รอบ ๆ เสาชิงช้าก็มีอยู่ไม่น้อย ในทีมตัดสินใจโทรถามผู้ชำนาญ ในระหว่างที่เราเดินหาของกิน ตอนแรกว่าจะไปกินมนต์นมสด แต่ร้านปิดปีใหม่ สุดท้ายมาจบที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ชื่อออกจีน ๆ หน่อย หิวตาลายจำชื่อไม่ได้เช่นเคย หน้าร้านมีเป็ดย่างห้อยโตงเตงอยู่หลายตัว เราตัดสินใจนั่งทานรวมกันด้านหลังร้านเป็นโต๊ะกลม อาหารและน้ำถูกสั่ง น้ำมะนาวโซดาดับกระหาย แต่หลายคนดูดไปแค่สองอึกแล้วต้องยอมถอย เพราะมะนาวโซดาเปรี๊ยวปรี๊ด เล่นเอาหายง่วงไปเลยครับท่าน ที่สำคัญปลาแป๊ะซะ เล่นเอาทุกคนงงกับรสชาติ จนไม่แน่ใจว่าแป๊ะซะ ที่เคยกินมาตลอดชีวิต อันไหนมันคือ ของจริงของแท้ เพราะมาเจอแป๊ะซ๊ะร้านนี้ แล้วหมดความมั่นใจ ... คือ ใส่ทั้งผักกาดดอง กระเทียมดอง แนวเปรี้ยวๆ อมหวานๆ แต่ก็ทานกันไปจนเกือบหมด ใครสนใจท้าพิสูจน์จะพาไปชิม ... หลังจากรอจ่ายตังค์หนึ่งในทริปก็บอกว่า จริง ๆ แล้วเขาอาจจะไม่ชำนาญเรื่องนี้ เพราะว่าหน้าร้านเขามีเป็ดห้อยอยู่ เขาน่าจะเก่งเรื่องเป็ด แต่เราไม่สั่งเป็ดเอง อาหารพวกนี้แม่ครัวคงไม่ชำนาญ ก็เลยเป็น แป๊ะ (โดน) ซ้า..า..า เฮฮาและเคลียร์เงินกันไปตามระเบียบ
แยกย้ายกลับบ้านด้วยความอิ่มท้อง และอิ่มบุญ ขอบคุณน้องป๊อป ที่จัดทริปดี ๆ มาให้ และน้องๆ ที่ร่วมทริปทุกคน ที่ทำให้รู้ว่าสิ่งดี ๆ มันมีอยู่ใกล้ ๆ เราแค่นี้เอง บางทีอะไรก็ไม่เป็นอย่างที่คิด แต่ชีวิตมันก็มีเรื่องดีๆ รอเราอยู่เสมอ ... และขอนำบุญมาฝากทุกคนครับ
ดูรูปได้ที่ http://bsd2ex.hi5.com
ข้างล่างเป็นคลิปวิดีโอ ครับ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เฮียบรรยายได้ละเอียดมากๆ อ่านแล้วยังกะได้ไปเที่ยวอีกรอบเลย สนุกจริงๆ ไม่คิดว่าทริปเร่งด่วนของเราจะมีคนไปด้วยเยอะแบบนี้

ทริปหน้ารอโปรเจคของท่านอื่นๆ บ้าง แต่ไปแจมด้วยชัวร์ อิอิ